หมากผู้หมากเมีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cordyline fruticosa)
เป็นพืชในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagaceae) กระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเกาะนิวกินี เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 3-4 เมตร ลำต้นกลมเป็นลำเดี่ยวหรือเป็นกอ เมื่อโตเต็มที่จะมีเนื้อไม้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับรอบต้น แผ่นใบมีหลายแบบ ทั้งใบรูปใบหอก รูปหอกกลับ รูปแถบ ปลายใบเรียวแหลมมีสีสันแตกต่างกัน ทั้งสีเขียว เขียวขอบขาว แดงเข้มหรือแดงอมน้ำตาล ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ปลายยอด มีดอกย่อยสีขาวครีมหรือขาวอมแดงเรื่อจำนวนมาก บานตอนกลางคืนและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ผลกลมสีแดง เนื้อนุ่ม ภายในมีเมล็ดรูปโค้ง
หมากผู้หมากเมียนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ชาวฮาวายเรียกพืชชนิดนี้ว่า "ติ" (Ti plant) ถือเป็นไม้มงคล มีสรรพคุณลดไข้ คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการคัดจมูก รากนำมาทำเป็นขนมหรือหมักเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่วนใบใช้ห่ออาหาร
สมุนไพรหมากผู้หมากเมีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูหมาก (เชียงใหม่), หมากผู้ (ภาคเหนือ), มะผู้มะเมีย (ภาคกลาง), ทิฉิ่ว ทิฉิ่วเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว), เที่ยซู่ (จีนกลาง) เป็นต้น
ประโยชน์ของหมากผู้หมากเมีย
- ช่อดอกนำมาลวกกับน้ำพริกกินหรือนำไปแกงได้ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
- ใบนำมาสับแล้วตากให้แห้งใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ ช่วยบำรุงร่างกายและผิวพรรณ (ไทลื้อ)
- ชาวไทใหญ่จะนำดอกมาใช้บูชาพระ ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะนำใบมาใช้บูชาพระ
- การใช้งานด้านภูมิทัศน์ หมากผู้หมากเมียเป็นไม้ใบที่มีสีสันสวยงาม สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับลงกระถางเพื่อประดับภายในอาคาร หรือจะปลูกไว้ในสวนที่มีแสงปานกลางถึงรำไรเพื่อเป็นจุดเด่นให้กับสวนหย่อม ริมน้ำตก ลำธาร หรือริมทะเลได้
- ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะหมากผู้หมากเมียเป็นของคู่กันเหมือนคู่สุขคู่สมคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย นอกจากนี้ยังใช้ใบเพื่อนำไปใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสำคัญอีกหลายงาน เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรือใช้เป็นเครื่องบูชาพระ เป็นต้น และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน และผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคาร เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปทางใบให้ปลูกกันในวันอังคาร
อ้างอิง
https://medthai.com/หมากผู้หมากเมีย/
https://th.wikipedia.org/wiki/หมากผู้หมากเมีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น